พระเมตตาของพระเยซูเจ้า

จงบอกมนุษยชาติที่กำลังเจ็บป่วย ให้เข้ามาใกล้หัวใจอันเมตตาของเรา แล้วเราจะประทานสันติภาพให้แก่มนุษยชาติ พระเมตตาของเราไม่มีวันสิ้นสุดเลย

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2025 สมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์

           ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย โหราจารย์บางท่านจากทิศตะวันออกเดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม สืบถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์” เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงทราบข่าวนี้ พระองค์ทรงวุ่นวายพระทัย ชาวกรุงเยรูซาเล็มทุกคนต่างก็วุ่นวายใจไปด้วย พระองค์ทรงเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ ตรัสถามเขาว่า “พระคริสต์จะประสูติที่ใด” เขาจึงทูลตอบว่า “ในเมืองเบธเลเฮม แคว้นยูเดีย เพราะประกาศกเขียนไว้ว่า เมืองเบธเลเฮม ดินแดนยูดาห์ เจ้ามิใช่เล็กที่สุดในบรรดาหัวเมืองแห่งยูดาห์ เพราะผู้นำคนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา”
           ดังนั้น กษัตริย์เฮโรดทรงเรียกบรรดาโหราจารย์มาเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ทรงซักถามถึงวันเวลาที่ดาวปรากฏ แล้วทรงใช้บรรดาโหราจารย์ไปที่เมืองเบธเลเฮม ทรงกำชับว่า “จงไปสืบถามเรื่องพระกุมารอย่างละเอียด และเมื่อพบพระกุมารแล้ว จงกลับมาบอกให้เรารู้ เราจะได้ไปนมัสการพระองค์ด้วย” เมื่อบรรดาโหราจารย์ได้ฟังพระดำรัสแล้วก็ออกเดินทาง ดาวที่เขาเห็นทางทิศตะวันออกปรากฏอีกครั้งหนึ่งนำทางให้ และมาหยุดนิ่งอยู่เหนือสถานที่ประทับของพระกุมาร เมื่อเห็นดาวอีกครั้งหนึ่งบรรดาโหราจารย์มีความยินดียิ่งนัก เขาเข้าไปในบ้าน พบพระกุมารกับพระนางมารีย์พระมารดา จึงคุกเข่าลงนมัสการพระองค์ แล้วเปิดหีบสมบัตินำทองคำ กำยาน และมดยอบออกมาถวายพระองค์ แต่พระเจ้าทรงเตือนเขาในความฝันมิให้กลับไปหากษัตริย์เฮโรด เขาจึงกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น
(มัทธิว 2:1-12)








วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

สามเณรชาวโปแลนด์ที่ช่วยชีวิตหญิงชาวยิว


ระหว่างฤดูร้อนปี 1942  มีหญิงสองคนในกรุงคราคอฟ  ของโปแลนด์ ถูกประกาศว่าเป็นชาวยิว และถูกนำตัวไปขังคุก........อ่านต่อ 



วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระสันตะปาปา 10 พระองค์


      VATICAN CITY (CNS) -- จาก น.เปโตรมาถึง พระสันตปาปาฟรังซิส  มีพระสันตะปาปาทั้งสิ้น 266 พระองค์  ในจำนวนนี้มีพระสันตะปาปา 78 พระองค์ที่ได้รับ "การสถาปนา" ( recognized หมายถึงพระศาสนจักรรับรู้ว่าเป็นนักบุญ) เป็นนักบุญ  ภายหลังวันที่ 27 เม.ย. 2014 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 2 พระองค์ คือพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 และพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2
           พระสันตะปาปาในยุคแรกเป็นมรณสักขีเพราะความเชื่อ  เป็นเครื่องหมายชัดเจนที่พระศาสนจักรรับรองถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน  และเมื่อยุคสมัยการเบียดเบียนสิ้นสุดลง  จำนวนพระสันตะปาปาที่ได้ชื่อว่า “นักบุญ” ก็มีน้อยลง
     เป็นเวลานานเกือบ 701 ปี  มาจนถึง 27 เม.ย. 2014 นี้ มีพระสันตะปาปาเพียง 4 พระองค์เท่านั้นที่ถูกประกาศให้เป็นนักบุญ
    
เรื่องที่น่าสนใจ 10 เรื่องเกี่ยวกับพระสันตะปาปาที่ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในยุคแรกๆมีดังนี้
1. น.เปโตร  พระนามเดิมคือ ซีโมน  เป็นพระสันตะปาปาองค์แรก  ท่านเป็นคนแรกที่บอกว่า พระเยซูเจ้าคือพระคริสต์ (พระผู้ไถ่)  และเป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต  ภารกิจพิเศษของท่านที่กล่าวในพระวรสารคือ “การดูแลฝูงแกะ” ของพระคริสต์  นั่นคือ ภารกิจในการประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้า  ปกป้องและเพิ่มพูนความเชื่อในพระคริสต์  ท่านถูกตรึงกางเขนที่เชิงเนินเขาของวาติกัน เมื่อมีอายุ 60 ปี  เวลานั้นเป็นสมัยของจักรพรรดิเนโร  ท่านจึงเป็นมรณสักขีเพราะความเชื่อและการเทศนาสั่งสอน  หลุมฝังศพของท่านถูกค้นพบอยู่ใต้อาสนวิหารนักบุญเปโตร
2. น. โซเตอร์ (St. Soter) เป็นพระสันตะปาปาแห่งโรมประมาณปี ค.ศ. 167  ท่านเสียชีวิตในอีก 7 ปีต่อมา  เชื่อว่า น.โซเตอร์เป็นคนแรกที่เริ่มต้นให้มีการฉลองวันอิสเตอร์ที่โรมทุกปี
3. น.ฟาเบียน St. Fabian  เป็นพระสันตะปาปาในปี 236-250  ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสันตะปาปาอย่างน่าประหลาดใจ  ในเวลาที่มีการเลือกผู้ที่จะเป็นพระสันตะปาปา  มีนกพิราบมาเกาะบนศีรษะของท่าน  ผู้คนที่นั่นต่างระลึกถึงการที่พระจิตเจ้าเสด็จมาเหนือพระเยซูเจ้า  จึงเชื่อว่าพระจิตเจ้าทรงเลือกท่านให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป
4. น. ดามาซุส  St. Damasus  ท่านเกิดที่โรมและเป็นพระสันตะปาปาในปี 366-384  เป็นยุคที่คริสตศาสนาได้รับการประกาศให้เป็นศาสนาประจำชาติของอาณาจักรโรมันในปี 380  และพระองค์ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันให้เป็นพระสังฆราชแห่งโรมในฐานะผู้สืบทอดจาก น.เปโตร โดยตรง  พระองค์เป็นผู้นำภาษาลาติน มาใช้ในพิธีกรรมและเป็นมาตรฐานต่อมา
5. น. เลโอ ผู้ยิ่งใหญ่  (St. Leo the Great )ท่านเกิดมาในชื่อว่า เลโอ และใช้นามนี้เป็นชื่อพระสันตะปาปา  พระองค์เป็นพระสันตะปาปาในปี 440-461  เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่ได้รับสมญาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ the great” และยังเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรอีกด้วย  พระองค์ประกาศจุดยืนที่แน่ชัดในเรื่องการบังเกิดของพระคริสตเจ้า  นั่นคือ พระคริสต์ทรงบังเกิดมีสภาวะพระเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกัน  พระองค์ยังเป็นที่รู้จักดีในเรื่องที่ได้พบกับ อัตติลา กษัตริย์ชาวฮั่น ในปี 452  และได้เกลี้ยกล่อมอัตติลาให้ยกเลิกการรุกรานอิตาลีและยกทัพกลับไปได้สำเร็จ
6. น.เกรโกรี่ผู้ยิ่งใหญ่  (St. Gregory the Great) เป็นพระสันตะปาปาในปี 590-604  เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่สองที่ได้รับสมญาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” ต่อจากพระสันตะปาปาเลโอ  พระองค์เป็นญาติกับพระสันตะปาปาสองพระองค์  มารดาของพระองค์และป้าสองคนได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญด้วย  พระองค์จึงได้ชื่อว่าเป็นนักบุญในท่ามกลางนักบุญ  พระองค์บวชเป็นนักพรตและไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งพระสันตปาปาเมื่อถูกเลือก  พระองค์คร่ำครวญบ่อยๆถึงหน้าที่ใหม่ที่ได้รับในฐานะพระสันตปาปาเพราะต้อง “ทนต่อภารกิจและเรื่องราวทางโลก”  จนไม่มีเวลาที่จะรำพึงไตร่ตรองชีวิตในพระวินัยได้อย่างสงบ  นอกจากนั้น พระองค์เน้นย้ำอย่างหนักแน่นในเรื่องความยากจนและความเมตตา  พระองค์ได้ให้อาหารแก่คนยากจนในโรมและยังเชิญพวกเขาให้มารับประทานอาหารกับพระองค์ทุกวันอีกด้วย
7. น. นิโคลัสที่ 1 (St. Nicholas I the Great) ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นพระสันตะปาปาในปี 858-867  เป็นองค์ที่สามและเป็นองค์สุดท้ายที่ได้สมญาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่”  พระองค์เพิ่มอำนาจของพระสันตปาปาให้แข็งแกร่งขึ้นและไม่ยอมให้ใครมีสิทธิที่จะขับไล่พระสังฆราชโดยไม่ได้รับอนุมัติจากพระสันตปาปา  พระองค์ตรากฎหมายการแต่งงานและกระตุ้นให้พระสังฆราชทำหน้าที่ในการบัพพาชนียกรรมคนในราชวงศ์ซึ่งเป็นคาทอลิก  ที่ละทิ้งคู่แต่งงานเพื่อไปแต่งงานใหม่  พระองค์สนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแต่งงานและไม่เห็นด้วยกับพระสังฆราชบางองค์ที่บัพพาชนียกรรมคนในราชวงศ์ที่แต่งงานโดยไม่ได้รับการยินยอมจากบิดา
8. น.เกรโกรี่ที่ 7 (St. Gregory VII) เป็นพระสันตปาปในปี 1073-1085 พระองค์ทำการปฏิรูปหลายอย่าง  อย่างเช่น การทำให้อำนาจของพระสันตปาปาครอบคลุมไปถึงพระศาสนจักรตะวันตก  พระองค์แต่งตั้งพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่น่านับถือหลายองค์  พระองค์ต่อสู้กับการหาเงินเข้าวัดด้วยการขายหรือซื้อกิจการบางอย่างของโบสถ์  พระองค์ให้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการอยู่ในเพศพรหมจรรย์ของพระสงฆ์นักบวช  ทั้งๆที่มีการถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ  พระองค์ประกาศให้ประกอบพิธีกรรมแบบโรมเหมือนกันทั่วยุโรป  และทรงตั้งให้วันที่ 1 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันนักบุญทั้งหลาย  พระองค์ทรงยกเลิกบัพพาชนียกรรมแก่กษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 ในปี 1077  หลังจากที่กษัตริย์เฮนรี่ ทรงทำการใช้โทษบาปด้วยการเดินเท้าเปล่าในหิมะ
9. น. ซีเลสทีนที่ 5 (St. Celestine V) มาจากคณะเบเนดิกติน  พระองค์ทรงลาจากตำแหน่งพระสันตะปาปาภายหลังจากที่รับตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน ในปี 1294  เพราะพระองค์ประสงค์ที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่ถ่อมตนในอาราม  พระองค์ออกกฎอนุญาตให้พระสันตะปาปาสามารถลาออกหรือสละตำแหน่งได้  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อมาที่ทรงสละตำแหน่งในปี 2013  พระองค์ทรงวางผ้าคลุมไหล่ที่ได้รับในวันที่ถูกเลือกเป็นพระสันตปาปาในปี 2005 ไว้บนที่ฝังพระศพของพระสันตะปาปาซีเลสทีนที่ 5 ซึ่งอยู่ที่   L'Aquila, Italy ในปี 2009 และทิ้งไว้ที่นั่นเหมือนเป็นของขวัญ
10 น. ปีโอที่ 10 (St. Pius X) ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในปี 1903  สิ้นพระชนม์ในปี 1914  พระองค์ส่งเสริมให้สัตบุรุษรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทบ่อยๆ  และให้พระสงฆ์ประกอบพิธีบูชามิสซาอย่างสง่า  โดยเน้นในเรื่องการร้องเพลงเกรโกเรี่ยนในพิธีให้เหมาะสมและสวยงาม  ระมัดระวังไมให้มีการนำเพลงสไตล์สมัยใหม่มาใช้ในพิธี  และส่งเสริมให้สัตบุรุษขับร้องเพลงด้วย  พระองค์ทรงตั้งโรมันคูเรียและการประชุมของพระคาร์ดินัลเพื่อออกกฏเกณท์  พระองค์ให้การสนับสนุนข้อสงสัยทางวิทยาศาสตร์  อย่างไรก็ตาม  แม้พระองค์จะได้รับรถยนต์ในปี 1909  จากพระอัครสังฆราชแห่งนิวยอร์ก John M. Farley  พระองค์ก็ไม่เคยใช้เลย  พระองค์ยังคงใช้รถม้าเหมือนเดิม

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

สาระสำคัญในพิธีสถาปนานักบุญพระสันตปาปาสองพระองค์

 
1. พิธีกรรม - เริ่มเวลา 7.00 GMT (ประมาณ บ่ายสามโมง ในไทย) มีบทสวด  การขับร้องเพลงบทเร้าวิงวอนนักบุญ  (ซึ่งจะขานรับว่า  ช่วยวิงวอนทอญ)
2. การประกาศ  - พระสันตปาปาฟรังซิสจะตรัสว่า “เพื่อเป็นเกียรติแด่พระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง  ด้วยความยินดีแห่งความเชื่อคาทอลิกและเป็นการเพิ่มพูนชีวิตคริสตชน  โดยอาศัยอำนาจแห่งพระเยซูคริสตเจ้า  พระเจ้าของเรา  และอำนาจของอัครสาวกเปโตรและเปาโล  และอำนาจของเราเอง  หลังจากได้สวดภาวนาไตร่ตรองโดยอาศัยความช่วยเหลือจากสวรรค์  และได้ปรึกษากับบรรดาพี่น้องพระสังฆราชหลายองค์  เราขอประกาศให้บุญราศีพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 และพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เป็นนักบุญ  ขอให้ท่านได้อยู่ในหมู่นักบุญทั้งหลาย  และได้รับการเคารพจากพระศาสนจักรทั่วโลก  ทั้งนี้ในนามของพระบิดา  พระบุตร และพระจิต”
3. พระธาตุ - ของนักบุญจะถูกนำมาวางไว้บนพระแท่น  ในกรณีของพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 จะเป็นโลหิต ซึ่งใช้ในพิธีสถาปนาเป็นบุญราศี ปี 2011  สำหรับพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 จะเป็นผิวหนังที่นำมาจากร่างกายของพระองค์   พิธีจบลงด้วยเพลง “Gloria  แล้วพิธีมิสซาดำเนินต่อไปตามปกติ
4. ตัวเลข - ผู้แทนอย่างเป็นทางการจำนวน 93 คน จะมาร่วมในพิธี  24 คนเป็นระดับหัวหน้าแห่งรัฐ  กษัตริย์และพระราชินีแห่งเบลเยี่ยม และ สเปน ก็คาดว่าจะมาร่วมด้วย ในฐานะราชวงศ์จากกลุ่มแอนดอร่า  บริเทนและลักเซมเบิร์ก  ประเทศโปแลนด์ได้ส่งผู้แทนระดับสูงสุดคือ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและอดีตประธานาธิบดี 2 คน  ซึ่งรวมทั้งนาย เล็ค  วาเลซ่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มโซลิดาลิตี้ที่โค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์  โดยมีพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงสนับสนุน
- พระคาร์ดินัล 130-150 องค์ และ พระสังฆราช 1,000 องค์ จะร่วมประกอบพิธีมิสซาพร้อมกับพระสันตปาปาฟรังซิส  พระสงฆ์ 6,000 องค์ จะร่วมในพิธีโดยนั่งอยู่ด้านหน้าของพระแท่น  และพระสันตะปาปากิติคุณ เบเนดิกต์ที่ 16 จะเข้าร่วมในพิธีครั้งนี้
- พระสงฆ์ 600 องค์จะเป็นผู้แจกจ่ายศีลมหาสนิท  และสังฆานุกร 210 องค์จะคอยช่วยเหลือ
5. การถ่ายทอดสด
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการคือ www.2popesaints.org   ข้อมูลของพิธีสามารถรับได้ทาง www.vatican.va
- หนังสือพิธีกรรมอย่างเป็นทางการในรูปแบบไฟล์ pdf สามารถรับได้ทาง http://www.vatican.va/news_services/liturgy/libretti/2014/20140427-libretto-canonizzazione.pdf

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

อัศจรรย์ของพระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2


VATICAN CITY (CNS) --.นาง  Floribeth Mora Diaz  สตรีชาวคอสตา ริกา อายุ 50 ปี ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวเมื่อ วันที่ 24 เม.ย. นี้  สามวันก่อนที่เธอจะเข้าร่วมพิธีมิสซาเพื่อสถาปนาพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ขึ้นเป็นนักบุญ
และในเวลาเดียวกัน ซิสเตอร์ อะเดลเล ลาเบียนกา  แห่งคณะ Daughter of Charity ก็ให้สัมภาษณ์เป็นพยานเกี่ยวกับอัศจรรย์การเยียวยารักษาของซิสเตอร์ คัทเทอรีนา  คาปีตานี ในปี 1966 ซึ่งเป็นอัศจรรย์ที่ใช้ในการแต่งตั้งพระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2 เป็นบุญราศี
ถึงแม้ว่าสตรีทั้งสองจะเล่าเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นร้อยครั้ง  แต่ในที่ประชุมให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวครั้งนี้  เป็นครั้งใหญ่และอาจทำให้เกิดความตื่นเต้น  ซิสเตอร์ ลาเบียนกา  บอกว่าเธอต้องอ่านคำให้สัมภาษณ์จากข้อเขียนในกระดาษที่เธอเตรียมมา  เพราะเกรงว่าจะลืมข้อความบางสิ่งบางอย่างไป  ส่วนนางโมราเดียส  ให้สัมภาษณ์โดยมีเสียงที่สั่นบ้างเล็กน้อย
หญิงชาวคอสตารีกา  ผู้เดินทางมาที่วาติกันพร้อมกับสามีและลูก 4 คน  ได้เล่าเกี่ยวกับอาการปวดหัวอย่างรุนแรงของเธอในเดือน เม.ย. 2011  เธอไปพบหมอและได้รับแจ้งว่าเธอเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ  หมอบอกว่าเธอต้องได้รับการผ่าตัด  แต่เธอจะต้องไปที่เม็กซิโกหรือที่คิวบาเพื่อรับการผ่าตัดที่นั่น  และเธฮก็ไม่มีเงินเพียงพอ  หมอไม่สามารถช่วยเหลือเธอได้อีก  ดังนั้นเธอจึงถูกส่งตัวกลับบ้าน  หมอบอกว่า “เธอจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น”  เธอเริ่มร้องไห้ขณะที่เล่าให้ฟังต่อไปถึงเรื่องที่สามีพยายามบอกให้ลูกๆรู้ว่าแม่จะต้องเสียชีวิตและให้ลูกๆสวดภาวนา
นางโมรา เล่าต่อไปว่า  เธอมีความศรัทธาต่อพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 มานานแล้วและได้ชมการถ่ายทอดการสถาปนาพระองค์เป็นบุญราศีเมื่อ 1 พ.ค. 2011 ด้วย “แล้วฉันก็หลับไป” เธอพูดต่อ  อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เธอก็ได้ยินเสียงของพระสันตะปาปาเรียกเธอ “ลุกขึ้น!....จงอย่ากลัว”  เธอบอกว่า “ฉันมีความสงบและสันติสุข  ซึ่งทำให้ฉันแน่ใจว่าฉันหายแล้ว”
เธอและสามีไม่มีเงินเพียงพอที่จะทำการตรวจรักษาอีกแล้ว  แต่แม้กระนั้น หมอก็ทำการตรวจด้วยเครื่อง MRI ให้เธอ  “หมอแทบช็อก  สามีของฉันประหลาดใจมากว่าทำไม หมอไม่พูดอะไรเลย  และฉันก็พูดขึ้นว่า  “เพราะฉันได้รับการเยียวยารักษาโดยผ่านการวอนขอของพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2”
คำพูดของหมอมีความสำคัญมาก เธอพูดต่อ “เพราะไม่ใช่ฉันเพียงคนเดียวที่พูดว่า ฉันหายแล้ว  แต่หมอหลายคนที่เคร่งขรึมมาก ก็พูดเช่นนี้ด้วย”
ซิสเตอร์ ลาเบียนกา ได้เล่าเกี่ยวกับอัศจรรย์ที่ทำให้พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เป็นบุญราศี  เธอทำงานพร้อมกับซิสเตอร์ คัทเทอรีนา คาปิตานี ในโรงพยาบาลที่อิตาลี ในปี 1963  ซิสเตอร์ คัทเทอรีนา  เป็นโรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร   ในตอนเที่ยงคืนของวันหนึ่ง  และมีอาการรุนแรง  เธอได้ปลุกฉันขึ้นมา 
หลังจากรักษานานหลายเดือน  หมอได้ผ่าเอากระเพาะส่วนใหญ่ของเธอออก  เป็นส่วนที่มีเนื้องอกคลุมอยู่  รวมทั้งตับอ่อนและม้ามด้วย  ในตอนแรกเธอก็มีอาการดีขึ้น  แต่ต่อมาเกิดอาการทวารส่วนนอกรั่ว  จนทำให้ซิสเตอร์คัทเทอรีนาเกือบเสียชีวิตในวันที่ 22 พ.ค. 1966  ผู้ช่วยอธิการของคณะได้นำพระธาตุที่เป็นส่วนหนึ่งของผ้าคลุมเตียงของพระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2 มาให้ซิสเตอร์คัทเทอรีนา
“ท่านวางพระธาตุไว้ที่รอยแผลของซิสเตอร์โดยหวังว่า พระเยซูเจ้าจะเสด็จมาด้วยพระเมตตาและความรักของพระองค์” ซิสเตอร์ลาเบียนกาเล่า  “ทันใดนั้น  ซิสเตอร์ คัทเทอรีนาก็ลุกขึ้นจากเตียงและไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป”  ซิสเตอร์คัทเทอรีนาเล่าว่า  เธอรู้สึกว่ามีมือหนึ่งวางบนรอยแผลและได้ยินเสียงเรียกว่า “ซิสเตอร์ คัทเทอรีนา” 
“เธอรู้สึกตกใจที่ได้ยินเสียงผู้ชายในห้อง”  เธอจึงหันไปมองและเห็นพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงยืนอยู่ข้างเตียงของเธอ  พระองค์ตรัสกับเธอว่า  เธอหายสบายดีแล้ว  แล้วเธอก็ลุกจากเตียงไปบอกซิสเตอร์คนอื่นๆว่าเธอหายแล้วและกำลังหิว”  ซิสเตอร์ ลาเบียนกา เล่า
                 ด้วยอัศจรรย์นี้  พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 จึงได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี  และซิสเตอร์ คัทเทอรีนา ก็ไปร่วมอยู่ในพิธีด้วย  ซิสเตอร์คัทเทอรีนาเสียชีวิตในปี 2010  เธอมีชีวิตต่อมานาน 43 ปีหลังจากได้รับอัศจรรย์การเยียวยารักษา

สาส์นแม่พระ 2 - 25 เม.ย. 2014

สาส์นแม่พระประทานแก่มารีจา  25 เม.ย. 2014
ลูกที่รักทั้งหลาย  จงเปิดหัวใจของลูกเพื่อรับพระหรรษทานซึ่งพระเป็นเจ้าทรงกำลังประทานให้ลูกโดยผ่านทางแม่เถิด  เหมือนเช่นที่ดอกไม้เบ่งบานรับรังสีอันอบอุ่นของดวงอาทิตย์  จงรักและสวดภาวนาสำหรับทุกคนที่ยังอยู่ห่างไกลจากพระเป็นเจ้าและความรักของพระองค์  แม่อยู่กับลูกและแม่จะวอนขอเพื่อช่วยเหลือลูกทุกคนเบื้องพระพักตร์ขององค์พระบุตรของแม่  แม่รักลูกด้วยความรักที่มากล้นจนสุดประมาณได้
ขอขอบใจลูกที่ตอบสนองเสียงเรียกของแม่
---------------------------------------------------------------------

สาส์นแม่พระประทานแก่ มีรยานา 2 เม.ย. 2014
วันนี้แม่พระทรงประจักษ์ที่ Blue Cross
ลูกที่รักทั้งหลาย
ด้วยความรักเยี่ยงมารดา  แม่ปรารถนาที่จะช่วยลูกสำหรับชีวิตแห่งการสวดภาวนาของลูก  และช่วยลูกให้สำนึกผิดใช้โทษบาปด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเข้าใกล้องค์พระบุตรของแม่และแสงสว่างอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้มากขึ้น – แสงสว่างที่จะทำให้ลูกแยกตัวออกจากบาป - การสวดบทภาวนาทุกบท  การร่วมมิสซาทุกครั้ง และการอดอาหารทุกครั้ง เป็นความพยายามทึ่จะเข้าใกล้องค์พระบุตรของแม่  พระองค์ทรงเป็นที่ลี้ภัยจากบาปและพระองค์จะทรงทำให้ลูกระลึกถึงพระสิริของพระองค์  วิธีเหล่านี้เป็นหนทางที่ทำให้ลูกกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาผู้ทรงพระทัยดีและกับบรรดาบุตรทั้งหลายของพระองค์อีกครั้ง  เพราะฉะนั้น, ลูกๆที่รักทั้งหลายของแม่ จงร้องหาพระนามของพระบิดาสวรรค้วยหัวใจที่เปิดและเต็มไปด้วยความรักเถิด  เพื่อที่พระองค์จะทรงส่องสว่างลูกด้วยพระจิตเจ้า  โดยอาศัยพระจิตเจ้าลูกจะกลายเป็นน้ำพุแห่งความรักของพระเป็นเจ้า  ทุกคนที่ยังไม่รู้จักองค์พระบุตรของแม่  ทุกคนที่กระหายหาความรักและสันติสุขขององค์พระบุตร  จะได้ดื่มน้ำจากน้ำพุนี้
ขอขอบใจลูก
จงสวดภาวนา , สวดภาวนาสำหรับนายชุมพาบาลของลูก  แม่สวดภาวนาเพื่อพวกท่านและปรารถนาที่จะให้ท่านรู้สึกอยู่เสมอถึงการอวยพรจากมือของแม่และการค้ำจุนจากแม่ด้วยหัวใจเยี่ยงมารดา”

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

คำสัญญาของพระเยซูเจ้า


“โอ พระหรรษทานยิ่งใหญ่สักเพียงไรที่เราจะประทานแก่วิญญาณที่สวดภาวนาพระเมตตา  จงเขียนคำเหล่านี้ลงไปเถิด ลูกสาวของเรา  จงบอกโลกเกี่ยวกับพระเมตตาของเรา  มนุษยชาติจงรับรู้ถึงพระเมตตาอันไม่มีที่สิ้นสุดของเรา  นี่เป็นเครื่องหมายของวาระสุดท้าย  หลังจากนี้เราจะมาในวันแห่งความยุติธรรม  ขณะที่ยังมีเวลาอยู่  ขอให้ทุกคนจงมายังน้ำพุแห่งพระเมตตาของเรา  ให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากน้ำและพระโลหิตที่หลั่งไหลมาสู่พวกเขา”(บันทึก 848)

“จงสวดบทพระเมตตาที่เราสอนลูกโดยไม่หยุดหย่อน  ผู้ใดก็ตามที่สวดภาวนาบทนี้  จะได้รับพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ในเวลาใกล้เสียชีวิต  พระสงฆ์จะแนะนำให้คนบาปสวดภาวนานี้  ซึ่งเป็นความหวังในความรอดครั้งสุดท้ายของเขา  ไม่ว่าเขาจะมีบาปหนักมากสักเพียงไร  ถ้าเขาสวดภาวนาบทนี้เพียงครั้งเดียว  เขาจะได้รับพระหรรษทานจากพระเมตตาอันไม่มีที่สิ้นสุดของเรา”(บันทึก 687)

 “เรายินดีที่จะประทานทุกสิ่งแก่วิญญาณที่วอนขอจากเราด้วยการสวดภาวนาพระเมตตา  เมื่อคนที่มีบาปหนักที่สุดสวดภาวนาบทนี้  เราจะทำให้วิญญาณของเขามีสันติสุข  และในวาระใกล้ตายของเขา  เขาจะมีความสุข  จงเขียนสิ่งนี้ไว้เพื่อประโยชน์ของวิญญาณที่เป็นทุกข์เพราะบาป  เมื่อวิญญาณรู้และตระหนักถึงความหนักหน่วงของบาป  เมื่ออเวจีแห่งความสิ้นหวังทั้งมวลมาอยู่ต่อหน้าสายตาของเขา  จงอย่าสิ้นหวัง  แต่จงเข้ามาสู่อ้อมแขนแห่งพระเมตตาของเรา  เหมือนเด็กเล็กๆที่เข้าไปสู่อ้อมแขนของมารดาสุดที่รักของเขา  จงบอกทุกคนว่า  ไม่มีวิญญาณใดที่เรียกหาพระเมตตาของเราแล้วจะผิดหวังหรือได้รับความอับอาย  เรามีความยินดีเป็นพิเศษในวิญญาณที่วางใจในความดีของเรา  จงเขียนไว้ว่า  เมื่อพวกเขาสวดภาวนาพระเมตตาในเวลาใกล้ตาย  เราจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระบิดาของเราและผู้เสียชีวิต  ไม่ใช่ในฐานะผู้พิพากษาแต่ในฐานะพระผู้ไถ่ของเขา”(บันทึก 1541)

“ในชั่วโมงแห่งความตายของพวกเขา  เราจะเป็นผู้ปกป้องวิญญาณทุกดวงที่สวดภาวนาพระเมตตานี้เสมือนเป็นสง่าราศีของเราเอง  เมื่อบทภาวนาพระเมตตานี้ถูกสวดใกล้เตียงของผู้กำลังเสียชีวิต  พระพิโรธของพระเป็นเจ้าจะสงบลงและพระเมตตาอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์จะปกคลุมวิญญาณ”(บันทึก 811)

พระเยซูเจ้าตรัสแก่ น.โฟสเตนา “เราปรารถนาให้พระเมตตานี้หลั่งไหลมาสู่โลกทั้งมวลโดยผ่านหัวใจของเธอ  อย่าให้ใครที่มาหาเธอกลับไปโดยปราศจากความวางใจในพระเมตตาของเรา  เราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งให้เป็นเช่นนี้สำหรับวิญญาณ  จงสวดภาวนาให้มากเท่าที่เธอจะทำได้สำหรับผู้กำลังจะตาย  โดยการวอนขอของเธอจะทำให้พวกเขามีความวางใจในพระเมตตาของเรา  เพราะพวกเขาจำเป็นต้องมีความวางใจในพระเมตตาของเรา  แม้เพียงเล็กน้อยที่สุด”(บันทึก 1777)

 “ลูกสาวของเรา  จงช่วยเราในการช่วยวิญญาณคนบาปที่ใกล้ตาย  จงสวดภาวนาพระเมตตาที่เราสอนลูกเพื่อพวกเขา  เมื่อดิฉันเริ่มสวดภาวนาพระเมตตา  ดิฉันเห็นชายที่กำลังจะเสียชีวิตซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสและพยายามดิ้นรนต่อสู้  อารักขเทวดาของเขากำลังปกป้องเขา  แต่เขาไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กับความทุกข์ทรมานอันยิ่งใหญ่ของวิญญาณ  แต่เมื่อดิฉันสวดภาวนาพระเมตตา  ดิฉันเห็นพระเยซูเจ้าเหมือนในภาพ รังสีที่ส่องกระจายออกมาจากดวงพระทัยของพระองค์ใด้ปกคลุมคนเจ็บป่วยผู้นี้  และอำนาจของความมืดก็สูญสลายไป  แล้วชายที่เจ็บป่วยก็ถอนหายใจเป็นครั้งสุดท้าย”(บันทึก 1565)