พระเมตตาของพระเยซูเจ้า

จงบอกมนุษยชาติที่กำลังเจ็บป่วย ให้เข้ามาใกล้หัวใจอันเมตตาของเรา แล้วเราจะประทานสันติภาพให้แก่มนุษยชาติ พระเมตตาของเราไม่มีวันสิ้นสุดเลย

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2025 หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดประเวณี

           พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังภูเขามะกอกเทศ เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น พระองค์เสด็จไปในพระวิหารอีก ประชาชนเข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ประทับนั่ง แล้วทรงเริ่มสั่งสอน บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีนำหญิงคนหนึ่งเข้ามา หญิงคนนี้ถูกจับขณะล่วงประเวณี เขาให้นางยืนตรงกลาง แล้วทูลถามพระองค์ว่า “อาจารย์ หญิงคนนี้ถูกจับขณะล่วงประเวณี ในธรรมบัญญัติ โมเสสสั่งเราให้ทุ่มหินหญิงประเภทนี้จนตาย ส่วนท่านจะว่าอย่างไร” เขาถามพระองค์เช่นนี้ เพื่อทดลองพระองค์ หวังจะหาเหตุปรักปรำพระองค์ แต่พระเยซูเจ้าทรงก้มลง เอานิ้วพระหัตถ์ขีดเขียนที่พื้นดิน เมื่อคนเหล่านั้นยังทูลถามย้ำอยู่อีก พระองค์ทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสว่า “ท่านผู้ใดไม่มีบาป จงเอาหินทุ่มนางเป็นคนแรกเถิด” แล้วทรงก้มลงขีดเขียนบนพื้นดินต่อไป เมื่อคนเหล่านั้นได้ฟังดังนี้ ก็ค่อย ๆ ทยอยออกไปทีละคน เริ่มจากคนอาวุโส จนเหลือแต่พระเยซูเจ้าตามลำพังกับหญิงคนนั้น ซึ่งยังคงยืนอยู่ที่เดิม พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสกับนางว่า “นางเอ๋ย พวกนั้นไปไหนหมด ไม่มีใครลงโทษท่านเลยหรือ” หญิงคนนั้นทูลตอบว่า “ไม่มีใครเลย พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย ไปเถิด และตั้งแต่นี้ไป อย่าทำบาปอีก”
(ยอห์น 8:1-11)








วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บทภาวนาสองบทที่คล้ายกัน

บทข้าแต่พระบิดา  และ บทวันทามารีย์  เป็นบทภาวนาสองบทที่มีผู้สวดมากที่สุด  ทุกๆวันจะมีผู้สวดภาวนาสองบทนี้เป็นพันล้านครั้งในทุกประเทศทั่วโลก  ที่บ้าน  ที่โบสถ์ และสถานที่ต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสวดสายประคำ  สายประคำหนึ่งสาย  จะมีการสวดบทข้าแต่พระบิดา 6 ครั้ง และบทวันทามารีย์ 53 ครั้ง  บทภาวนาทั้งสองมีโครงสร้างที่คล้ายกัน คือ แบ่งเป็นสองภาค  และในแต่ละภาคก็มีลักษณะคล้ายกันด้วย
บทข้าแต่พระบิดา
ภาคแรก
เป็นการสรรเสริญพระเป็นเจ้า  เรากล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย  พระองค์สถิตในสวรรค์  พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ  พระอาณาจักรจงมาถึง  พระประสงค์จงสำเร็จไปในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ “  เราสรรเสริญพระองค์ว่าทรงเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด  เรารู้สึกปลื้มปิติยินดีที่พระองค์ทรงเป็นบิดาของเรา  ดังนั้นเราปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดพระองค์  นั่นคือให้อาณาจักรของพระองค์จงมาถึง  และให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จไปเพื่อแผ่นดินจะได้มีความสุข
ภาคที่สอง
         เป็นการถ่อมตนและขออภัย  เรากล่าวว่า “โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
          และเป็นการวอนขอ  เราวอนขอสองอย่างคือ “โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ “  และ “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ  แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”  เราวอนขอในฐานะที่เราเป็นลูกของพระองค์และพระองค์เป็นบิดาของเรา  โดยการขอให้พระองค์เลี้ยงดูเราและช่วยปกป้องเราให้พันจากภัยอันตราย  เรายังขอให้พระองค์อภัยความผิดแก่เราเมื่อเราทำความผิดด้วย
บทวันทามารีย์
ภาคแรก
เป็นการสรรเสริญแม่พระ  เรากล่าวว่า “วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน  พระเจ้าสถิตกับท่าน  ผู้ได้รับพระพรกว่าหญิงใดใด และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก“  เมื่อเรากล่าวสรรเสริญแม่พระ  เรารู้สึกปลื้มปิติยินดีที่แม่พระทรงได้รับพระเกียรติ  และเราได้ทำให้คำทำนายของแม่พระสำเร็จไป  คือ “แต่นี้ไปมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยจะเรียกข้าพเจ้าว่าเป็นผู้มีบุญ”  แม่พระทรงมีบุญ  มีโชควาสนาที่ได้เป็นมารดาของพระเป็นเจ้า
ภาคที่สอง
         เป็นการถ่อมตนและวอนขอ เรากล่าวว่า “สันตะมารีย์มารดาพระเจ้า  โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป  บัดนี้และเมื่อจะตาย”  เราถ่อมตนยอมรับว่าเป็นคนบาปและขอให้แม่พระทรงวอนขออภัยจากพระบิดาแทนเรา  เหมือนเช่นเด็กที่มาพึ่งแม่เมื่อทำความผิด  ขอให้แม่พูดกับพ่อแทนตนเอง  เรามีความวางใจในแม่พระในฐานะมารดาของเรา  เราไม่ได้ขอให้แม่พระอภัยบาปของเรา  เพราะมีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่สามารถให้อภัยบาปได้
            บทภาวนาทั้งสองบทนี้เป็นบทภาวนาที่สวยงามที่สุด  และมีความหมายมากที่สุด  เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียด  ยังสามารถพิจารณาได้อีกหลายประเด็น  ซึ่งเราควรนำไปไตร่ตรองด้วยตนเอง  ขอให้เราสวดภาวนาทั้งสองบทนี้ทุกวัน  บ่อยๆ  และสวดอย่างดี  ให้เรารักบทภาวนาทั้งสองบทนี้เหมือนเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า  เพราะเป็นบทภาวนาที่นำพระพรมาให้แก่เรา   ทำให้เราปลื้มปิติยินดี  และทำให้เราได้อยู่ใกล้ชิดพระเป็นเจ้าและแม่พระ  นักบุญออกุสติน กล่าวว่า  “ผู้ที่สวดภาวนาจะได้รอด  ผู้ที่ไม่สวดภาวนาจะถูกสาปแช่ง  ผู้ที่สวดภาวนแต่น้อยก็มีความเสี่ยงต่อความรอดพ้นของเขา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น