พระเมตตาของพระเยซูเจ้า

จงบอกมนุษยชาติที่กำลังเจ็บป่วย ให้เข้ามาใกล้หัวใจอันเมตตาของเรา แล้วเราจะประทานสันติภาพให้แก่มนุษยชาติ พระเมตตาของเราไม่มีวันสิ้นสุดเลย

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2024 พระเยซูเจ้าทรงปรากฏพระองค์แก่บรรดาศิษย์

           ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทางและเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง
           ขณะที่บรรดาศิษย์สนทนากันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ในหมู่เขา ตรัสว่า ‘สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด’ เขาต่างตกใจกลัว คิดว่าได้เห็นผี แต่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านวุ่นวายใจทำไม เพราะเหตุใดท่านจึงมีความสงสัยในใจ จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริง ๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูกอย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี’ ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้เขาดูพระหัตถ์และพระบาท เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า ‘ท่านมีอะไรกินบ้าง’ เขาถวายปลาย่างชิ้นหนึ่งแด่พระองค์ พระองค์ทรงรับมาเสวยต่อหน้าเขา
           หลังจากนั้นพระองค์ตรัสกับเขาว่า ‘นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เรากล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศกและเพลงสดุดีจะต้องเป็นความจริง’ แล้วพระองค์ทรงทำให้เขาเกิดปัญญาเข้าใจพระคัมภีร์ ตรัสว่า ‘มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมานและจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาปโดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้‘
(ลูกา 24:35-48)








วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระสันตะปาปา 10 พระองค์


      VATICAN CITY (CNS) -- จาก น.เปโตรมาถึง พระสันตปาปาฟรังซิส  มีพระสันตะปาปาทั้งสิ้น 266 พระองค์  ในจำนวนนี้มีพระสันตะปาปา 78 พระองค์ที่ได้รับ "การสถาปนา" ( recognized หมายถึงพระศาสนจักรรับรู้ว่าเป็นนักบุญ) เป็นนักบุญ  ภายหลังวันที่ 27 เม.ย. 2014 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 2 พระองค์ คือพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 และพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2
           พระสันตะปาปาในยุคแรกเป็นมรณสักขีเพราะความเชื่อ  เป็นเครื่องหมายชัดเจนที่พระศาสนจักรรับรองถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน  และเมื่อยุคสมัยการเบียดเบียนสิ้นสุดลง  จำนวนพระสันตะปาปาที่ได้ชื่อว่า “นักบุญ” ก็มีน้อยลง
     เป็นเวลานานเกือบ 701 ปี  มาจนถึง 27 เม.ย. 2014 นี้ มีพระสันตะปาปาเพียง 4 พระองค์เท่านั้นที่ถูกประกาศให้เป็นนักบุญ
    
เรื่องที่น่าสนใจ 10 เรื่องเกี่ยวกับพระสันตะปาปาที่ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในยุคแรกๆมีดังนี้
1. น.เปโตร  พระนามเดิมคือ ซีโมน  เป็นพระสันตะปาปาองค์แรก  ท่านเป็นคนแรกที่บอกว่า พระเยซูเจ้าคือพระคริสต์ (พระผู้ไถ่)  และเป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต  ภารกิจพิเศษของท่านที่กล่าวในพระวรสารคือ “การดูแลฝูงแกะ” ของพระคริสต์  นั่นคือ ภารกิจในการประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้า  ปกป้องและเพิ่มพูนความเชื่อในพระคริสต์  ท่านถูกตรึงกางเขนที่เชิงเนินเขาของวาติกัน เมื่อมีอายุ 60 ปี  เวลานั้นเป็นสมัยของจักรพรรดิเนโร  ท่านจึงเป็นมรณสักขีเพราะความเชื่อและการเทศนาสั่งสอน  หลุมฝังศพของท่านถูกค้นพบอยู่ใต้อาสนวิหารนักบุญเปโตร
2. น. โซเตอร์ (St. Soter) เป็นพระสันตะปาปาแห่งโรมประมาณปี ค.ศ. 167  ท่านเสียชีวิตในอีก 7 ปีต่อมา  เชื่อว่า น.โซเตอร์เป็นคนแรกที่เริ่มต้นให้มีการฉลองวันอิสเตอร์ที่โรมทุกปี
3. น.ฟาเบียน St. Fabian  เป็นพระสันตะปาปาในปี 236-250  ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสันตะปาปาอย่างน่าประหลาดใจ  ในเวลาที่มีการเลือกผู้ที่จะเป็นพระสันตะปาปา  มีนกพิราบมาเกาะบนศีรษะของท่าน  ผู้คนที่นั่นต่างระลึกถึงการที่พระจิตเจ้าเสด็จมาเหนือพระเยซูเจ้า  จึงเชื่อว่าพระจิตเจ้าทรงเลือกท่านให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป
4. น. ดามาซุส  St. Damasus  ท่านเกิดที่โรมและเป็นพระสันตะปาปาในปี 366-384  เป็นยุคที่คริสตศาสนาได้รับการประกาศให้เป็นศาสนาประจำชาติของอาณาจักรโรมันในปี 380  และพระองค์ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันให้เป็นพระสังฆราชแห่งโรมในฐานะผู้สืบทอดจาก น.เปโตร โดยตรง  พระองค์เป็นผู้นำภาษาลาติน มาใช้ในพิธีกรรมและเป็นมาตรฐานต่อมา
5. น. เลโอ ผู้ยิ่งใหญ่  (St. Leo the Great )ท่านเกิดมาในชื่อว่า เลโอ และใช้นามนี้เป็นชื่อพระสันตะปาปา  พระองค์เป็นพระสันตะปาปาในปี 440-461  เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่ได้รับสมญาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ the great” และยังเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรอีกด้วย  พระองค์ประกาศจุดยืนที่แน่ชัดในเรื่องการบังเกิดของพระคริสตเจ้า  นั่นคือ พระคริสต์ทรงบังเกิดมีสภาวะพระเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกัน  พระองค์ยังเป็นที่รู้จักดีในเรื่องที่ได้พบกับ อัตติลา กษัตริย์ชาวฮั่น ในปี 452  และได้เกลี้ยกล่อมอัตติลาให้ยกเลิกการรุกรานอิตาลีและยกทัพกลับไปได้สำเร็จ
6. น.เกรโกรี่ผู้ยิ่งใหญ่  (St. Gregory the Great) เป็นพระสันตะปาปาในปี 590-604  เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่สองที่ได้รับสมญาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” ต่อจากพระสันตะปาปาเลโอ  พระองค์เป็นญาติกับพระสันตะปาปาสองพระองค์  มารดาของพระองค์และป้าสองคนได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญด้วย  พระองค์จึงได้ชื่อว่าเป็นนักบุญในท่ามกลางนักบุญ  พระองค์บวชเป็นนักพรตและไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งพระสันตปาปาเมื่อถูกเลือก  พระองค์คร่ำครวญบ่อยๆถึงหน้าที่ใหม่ที่ได้รับในฐานะพระสันตปาปาเพราะต้อง “ทนต่อภารกิจและเรื่องราวทางโลก”  จนไม่มีเวลาที่จะรำพึงไตร่ตรองชีวิตในพระวินัยได้อย่างสงบ  นอกจากนั้น พระองค์เน้นย้ำอย่างหนักแน่นในเรื่องความยากจนและความเมตตา  พระองค์ได้ให้อาหารแก่คนยากจนในโรมและยังเชิญพวกเขาให้มารับประทานอาหารกับพระองค์ทุกวันอีกด้วย
7. น. นิโคลัสที่ 1 (St. Nicholas I the Great) ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นพระสันตะปาปาในปี 858-867  เป็นองค์ที่สามและเป็นองค์สุดท้ายที่ได้สมญาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่”  พระองค์เพิ่มอำนาจของพระสันตปาปาให้แข็งแกร่งขึ้นและไม่ยอมให้ใครมีสิทธิที่จะขับไล่พระสังฆราชโดยไม่ได้รับอนุมัติจากพระสันตปาปา  พระองค์ตรากฎหมายการแต่งงานและกระตุ้นให้พระสังฆราชทำหน้าที่ในการบัพพาชนียกรรมคนในราชวงศ์ซึ่งเป็นคาทอลิก  ที่ละทิ้งคู่แต่งงานเพื่อไปแต่งงานใหม่  พระองค์สนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแต่งงานและไม่เห็นด้วยกับพระสังฆราชบางองค์ที่บัพพาชนียกรรมคนในราชวงศ์ที่แต่งงานโดยไม่ได้รับการยินยอมจากบิดา
8. น.เกรโกรี่ที่ 7 (St. Gregory VII) เป็นพระสันตปาปในปี 1073-1085 พระองค์ทำการปฏิรูปหลายอย่าง  อย่างเช่น การทำให้อำนาจของพระสันตปาปาครอบคลุมไปถึงพระศาสนจักรตะวันตก  พระองค์แต่งตั้งพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่น่านับถือหลายองค์  พระองค์ต่อสู้กับการหาเงินเข้าวัดด้วยการขายหรือซื้อกิจการบางอย่างของโบสถ์  พระองค์ให้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการอยู่ในเพศพรหมจรรย์ของพระสงฆ์นักบวช  ทั้งๆที่มีการถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ  พระองค์ประกาศให้ประกอบพิธีกรรมแบบโรมเหมือนกันทั่วยุโรป  และทรงตั้งให้วันที่ 1 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันนักบุญทั้งหลาย  พระองค์ทรงยกเลิกบัพพาชนียกรรมแก่กษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 ในปี 1077  หลังจากที่กษัตริย์เฮนรี่ ทรงทำการใช้โทษบาปด้วยการเดินเท้าเปล่าในหิมะ
9. น. ซีเลสทีนที่ 5 (St. Celestine V) มาจากคณะเบเนดิกติน  พระองค์ทรงลาจากตำแหน่งพระสันตะปาปาภายหลังจากที่รับตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน ในปี 1294  เพราะพระองค์ประสงค์ที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่ถ่อมตนในอาราม  พระองค์ออกกฎอนุญาตให้พระสันตะปาปาสามารถลาออกหรือสละตำแหน่งได้  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อมาที่ทรงสละตำแหน่งในปี 2013  พระองค์ทรงวางผ้าคลุมไหล่ที่ได้รับในวันที่ถูกเลือกเป็นพระสันตปาปาในปี 2005 ไว้บนที่ฝังพระศพของพระสันตะปาปาซีเลสทีนที่ 5 ซึ่งอยู่ที่   L'Aquila, Italy ในปี 2009 และทิ้งไว้ที่นั่นเหมือนเป็นของขวัญ
10 น. ปีโอที่ 10 (St. Pius X) ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในปี 1903  สิ้นพระชนม์ในปี 1914  พระองค์ส่งเสริมให้สัตบุรุษรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทบ่อยๆ  และให้พระสงฆ์ประกอบพิธีบูชามิสซาอย่างสง่า  โดยเน้นในเรื่องการร้องเพลงเกรโกเรี่ยนในพิธีให้เหมาะสมและสวยงาม  ระมัดระวังไมให้มีการนำเพลงสไตล์สมัยใหม่มาใช้ในพิธี  และส่งเสริมให้สัตบุรุษขับร้องเพลงด้วย  พระองค์ทรงตั้งโรมันคูเรียและการประชุมของพระคาร์ดินัลเพื่อออกกฏเกณท์  พระองค์ให้การสนับสนุนข้อสงสัยทางวิทยาศาสตร์  อย่างไรก็ตาม  แม้พระองค์จะได้รับรถยนต์ในปี 1909  จากพระอัครสังฆราชแห่งนิวยอร์ก John M. Farley  พระองค์ก็ไม่เคยใช้เลย  พระองค์ยังคงใช้รถม้าเหมือนเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น