พระเมตตาของพระเยซูเจ้า

จงบอกมนุษยชาติที่กำลังเจ็บป่วย ให้เข้ามาใกล้หัวใจอันเมตตาของเรา แล้วเราจะประทานสันติภาพให้แก่มนุษยชาติ พระเมตตาของเราไม่มีวันสิ้นสุดเลย

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2025 งานแต่งงานที่หมู่บ้านคานา

           สามวันต่อมามีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ เพื่อใช้ชำระตามธรรมเนียมของชาวยิว แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาคนรับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ แล้วพระองค์ทรงสั่งเขาอีกว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด” เขาก็ตักไปให้ ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ไม่รู้ว่าเหล้านี้มาจากไหน แต่คนรับใช้ที่ตักน้ำรู้ดี ผู้จัดงานเลี้ยงจึงเรียกเจ้าบ่าวมา พูดว่า “ใคร ๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้ว จึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้” พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ ครั้งแรกนี้ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์
(ยอห์น 2:1-11)








วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

ทำไมพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มโดยการขี่ลา

เหตุผลที่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มโดยขี่ลามี 4 ข้อคือ
1.             ประกาศก เศคารียาห์เขียนไว้ว่า “จงมองดูเถิด กษัตริย์ของเจ้าเสด็จมาหาเจ้าแล้ว  พระองค์เสด็จมาอย่างผู้มีชัยชนะ  ทรงสุภาพอ่อนโยน  ทรงประทับบนหลังแม่ลาและลูกลา" (ศคย. 9:9)  ประชาชนเห็นเหตุการณ์ตามคำทำนายนี้จึงมาต้อนรับกษัตริย์ของพวกเขาพลางร้องตะโกน”โฮซานนาแดผู้เสด็จมาในพระนามของพระเป็นเจ้า” (มธ.21:9)
2.             ลามีความเชื่อมโยงกับเรื่องของอับราฮัมถวายอิซาอักเป็นยัญบูชาแด่พระเป็นเจ้า  อับราฮัมให้อิซาอักขี่ลาไปยังภูเขาที่จะทำพิธี  การถวายบุตรหัวปีแดพระเจ้าเป็นเครื่องหมายของความนบนอบเชื่อฟัง
3.             กษํตริย์โซโลมอนขี่ลาในวันที่ขึ้นครองราชย์สมบัติ  ลานั้นเป็นลาที่เคยเป็นของกษัตริย์ดาวิดผู้บิดามาก่อน (1 พกษ. 1:33-44)
4.             กษัตริย์เยฮูได้ขี่ลาเข้าไปในดินแดนซามาเรีย (ซึ่งชาวซามาเรียถือว่าเป็นเยรูซาเล็มของเขา)  เพื่อทำลายวิหารของพระบาอัล (2 พกษ. 9:11-10:28)  พระเยซูเจ้าก็ทรงเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มและทำลายโต๊ะแลกเงินของพ่อค้าที่มาทำให้พระวิหารของพระเป็นเจ้ากลายเป็นซ่องโจร
พระเยซูเจ้าทรงขี่ลาตัวเดียวหรือขี่ลาสองตัว
เป็นเวลาหลายปีที่ผมสับสนในพระวรสารวันอาทิตย์ใบลาน  ซึ่งเขียนโดย น.มัทธิว ท่านบอกว่า พระเยซูเจ้าขี่ลาและลูกลา  แต่พระวรสารของ น.มาร์โก  , น. ลูกา และ น.ยอห์น  เขียนแต่เพียงว่า พระเยซูเจ้าทรงขี่ลา และไม่ได้กล่าวถึงลูกลาเลย  ผมเคยคิดว่า พระเยซูเจ้าอาจขี่แม่ลาและลูกลาไปพร้อมกัน  ฟังดูแล้วพิลึกเหมือนกัน  แต่ผมก็นึกไม่ออกว่า น.มัทธิว จะหมายความอย่างไรจึงเขียนไว้แบบนั้น
ในที่สุดผมก็หายข้องใจเมื่อได้อ่านข้อความในหนังสืออธิบาย  Cornelius a Lapide’s commentary  ตามคำอธิบายของ Lapide  ในตอนแรก พระเยซูเจ้าทรงขี่แม่ลาก่อนเมื่ออยู่ห่างกรุงเยรูซาเล็มเพราะ มีเนินเขาและภูเขา  จึงเดินทางขึ้นและลงเนินเขาบ่อยๆ และเมื่อใกล้เมือง พระองค์จึงเปลี่ยนมาขี่ลูกลาเพื่อเข้าเมือง  (ลูกลานี้ไม่ใช่ลูกลาตัวเล็กๆ แต่เป็นลูกลาที่โตแล้ว  แต่ยังไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน)
และมีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้  แม่ลาแข็งแรงกว่าลูกลาจึงสามารถขึ้นลงเนินเขาได้สะดวกกว่า  ส่วนลูกลาก็สามารถนำพระเยซูเจ้าเข้ากรุงเยรูซาเล็มได้สะดวกและทำให้แม่ลาได้พักบ้าง
และยังมีความหมายที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ด้วย  แม่ลาและลูกลาหมายถึง “ประชาชนสองพวก – พวกแรกคือ ชาวยิวที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของโมเสส  แทนโดยแม่ลา  และชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้ถือตามพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า  แทนโดยลูกลา”
แม่ลาหมายถึงชาวอิสราเอลที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของโมเสส – น.เปโตรได้อธิบายบทบัญญัติของโมเสสว่า “เป็นแอก...ซึ่งบรรพบุรุษของเราหรือเราเองก็ไม่สามารถแบกไว้ได้”(กจ. 15:10)
ลูกลาหมายถึงชนต่างชาติ  เป็นชนชาติใหม่และไม่เคยถือตามบทบัญญัติ – น.เปโตรเปรียบเทียบชนเหล่านี้ว่าเป็นเหมือนกิ่งมะกอกป่า
พระเยซูเจ้าทรงขี่ทั้งแม่ลาและลูกลา มีความหมายว่า  ทั้งชาวยิวและชนต่างชาติจะถูกเรียกว่า Christophoroi - Christ-bearers – ผู้แบกรับพระคริสต์
และในสมัยปัจจุบัน ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้อง “แบกรับและนำพระคริสต์ไปสู่โลก”  เหมือนที่แม่ลาและลูกลาแบกรับและนำพระคริสต์เข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น