พระเมตตาของพระเยซูเจ้า

จงบอกมนุษยชาติที่กำลังเจ็บป่วย ให้เข้ามาใกล้หัวใจอันเมตตาของเรา แล้วเราจะประทานสันติภาพให้แก่มนุษยชาติ พระเมตตาของเราไม่มีวันสิ้นสุดเลย

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฏาคม 2025 อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี

         & ขณะนั้น นักกฎหมายคนหนึ่งยืนขึ้นทูลถามเพื่อจะจับผิดพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านตอบถูกแล้ว จงทำเช่นนี้ แล้วจะได้ชีวิต”
         & ชายคนนั้นต้องการแสดงว่าตนถูกต้องจึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรปล้นทุกสิ่ง ทุบตีเขา แล้วก็จากไป ทิ้งเขาไว้อาการสาหัสเกือบสิ้นชีวิต สมณะผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้นโดยบังเอิญ เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง ชาวเลวีคนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ชาวสะมาเรียผู้หนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้ ๆ เห็นเขาก็รู้สึกสงสาร จึงเดินเข้าไปหา เทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผลแล้วพันผ้าให้ นำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตนพาไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งและช่วยดูแลเขา วันรุ่งขึ้นชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้กล่าวว่า “ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา” ท่านคิดว่าในสามคนนี้ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น” เขาทูลตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด”
(ลูกา 10:25-37)








วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บทภาวนาสองบทที่คล้ายกัน

บทข้าแต่พระบิดา  และ บทวันทามารีย์  เป็นบทภาวนาสองบทที่มีผู้สวดมากที่สุด  ทุกๆวันจะมีผู้สวดภาวนาสองบทนี้เป็นพันล้านครั้งในทุกประเทศทั่วโลก  ที่บ้าน  ที่โบสถ์ และสถานที่ต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสวดสายประคำ  สายประคำหนึ่งสาย  จะมีการสวดบทข้าแต่พระบิดา 6 ครั้ง และบทวันทามารีย์ 53 ครั้ง  บทภาวนาทั้งสองมีโครงสร้างที่คล้ายกัน คือ แบ่งเป็นสองภาค  และในแต่ละภาคก็มีลักษณะคล้ายกันด้วย
บทข้าแต่พระบิดา
ภาคแรก
เป็นการสรรเสริญพระเป็นเจ้า  เรากล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย  พระองค์สถิตในสวรรค์  พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ  พระอาณาจักรจงมาถึง  พระประสงค์จงสำเร็จไปในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ “  เราสรรเสริญพระองค์ว่าทรงเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด  เรารู้สึกปลื้มปิติยินดีที่พระองค์ทรงเป็นบิดาของเรา  ดังนั้นเราปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดพระองค์  นั่นคือให้อาณาจักรของพระองค์จงมาถึง  และให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จไปเพื่อแผ่นดินจะได้มีความสุข
ภาคที่สอง
         เป็นการถ่อมตนและขออภัย  เรากล่าวว่า “โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
          และเป็นการวอนขอ  เราวอนขอสองอย่างคือ “โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ “  และ “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ  แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”  เราวอนขอในฐานะที่เราเป็นลูกของพระองค์และพระองค์เป็นบิดาของเรา  โดยการขอให้พระองค์เลี้ยงดูเราและช่วยปกป้องเราให้พันจากภัยอันตราย  เรายังขอให้พระองค์อภัยความผิดแก่เราเมื่อเราทำความผิดด้วย
บทวันทามารีย์
ภาคแรก
เป็นการสรรเสริญแม่พระ  เรากล่าวว่า “วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน  พระเจ้าสถิตกับท่าน  ผู้ได้รับพระพรกว่าหญิงใดใด และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก“  เมื่อเรากล่าวสรรเสริญแม่พระ  เรารู้สึกปลื้มปิติยินดีที่แม่พระทรงได้รับพระเกียรติ  และเราได้ทำให้คำทำนายของแม่พระสำเร็จไป  คือ “แต่นี้ไปมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยจะเรียกข้าพเจ้าว่าเป็นผู้มีบุญ”  แม่พระทรงมีบุญ  มีโชควาสนาที่ได้เป็นมารดาของพระเป็นเจ้า
ภาคที่สอง
         เป็นการถ่อมตนและวอนขอ เรากล่าวว่า “สันตะมารีย์มารดาพระเจ้า  โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป  บัดนี้และเมื่อจะตาย”  เราถ่อมตนยอมรับว่าเป็นคนบาปและขอให้แม่พระทรงวอนขออภัยจากพระบิดาแทนเรา  เหมือนเช่นเด็กที่มาพึ่งแม่เมื่อทำความผิด  ขอให้แม่พูดกับพ่อแทนตนเอง  เรามีความวางใจในแม่พระในฐานะมารดาของเรา  เราไม่ได้ขอให้แม่พระอภัยบาปของเรา  เพราะมีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่สามารถให้อภัยบาปได้
            บทภาวนาทั้งสองบทนี้เป็นบทภาวนาที่สวยงามที่สุด  และมีความหมายมากที่สุด  เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียด  ยังสามารถพิจารณาได้อีกหลายประเด็น  ซึ่งเราควรนำไปไตร่ตรองด้วยตนเอง  ขอให้เราสวดภาวนาทั้งสองบทนี้ทุกวัน  บ่อยๆ  และสวดอย่างดี  ให้เรารักบทภาวนาทั้งสองบทนี้เหมือนเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า  เพราะเป็นบทภาวนาที่นำพระพรมาให้แก่เรา   ทำให้เราปลื้มปิติยินดี  และทำให้เราได้อยู่ใกล้ชิดพระเป็นเจ้าและแม่พระ  นักบุญออกุสติน กล่าวว่า  “ผู้ที่สวดภาวนาจะได้รอด  ผู้ที่ไม่สวดภาวนาจะถูกสาปแช่ง  ผู้ที่สวดภาวนแต่น้อยก็มีความเสี่ยงต่อความรอดพ้นของเขา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น