ไข่เป็นอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์
อาหารในกลุ่มนี้จะให้โปรตีนซึ่งช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
แต่ไข่ก็มีสารอาหารที่ต้องระวังคือ โคเลสเตอรอล และมีในปริมาณสูง คือ ในไข่
๑ ฟองมีโคเลสเตอรอล ประมาณ ๒๐๐-๒๒๐ มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับ ๒ ใน ๓
ของปริมาณที่แนะนำว่าไม่ควรบริโภคเกินต่อวันคือ ๓๐๐ มิลลิกรัม
อาหารในกลุ่มนี้ไม่ใช่เฉพาะไข่ที่มีโคเลสเตอรอลสูง ยังมีอาหารประเภทหนังสัตว์
เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลประเภทกุ้ง หอย และน้ำมันจากสัตว์ต่างๆ
ก็ล้วนมีโคเลสเตอรอลสูง
ดังนั้น
ในกลุ่มคนที่อายุเกิน ๓๕-๔๐ ปีขึ้นไปจึงควรระมัดระวังการบริโภคไข่และอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่อาจมีความเสี่ยงได้ถ้ากินไข่ทุกวัน ซึ่งได้แก่
กลุ่มผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันเลือดสูง ผู้มีโคเลสเตอรอลสูง
และกลุ่มที่มีพันธุกรรมที่ร่างกายไวต่อการดูดซึมโคเลสเตอรอล บุคคลในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรบริโภคไข่สัปดาห์ละ
๓-๔ ฟอง หรือบริโภคไข่วันเว้นวัน หรือบริโภคเฉพาะไข่ขาว
ทั้งนี้ไข่ที่บริโภคควรเป็น
ไข่ที่สุกเพราะไข่ที่ไม่สุกจะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมวิตามินไบโอติน
ทำให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการจากไข่ลดลง นอก จากนี้
ไข่ที่ไม่สุกร่างกายจะย่อยได้ยาก สำหรับเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น
และคนวัยทำงานที่ร่างกายปกติ สามารถรับกินไข่ได้ทุกวัน วันละ ๑ ฟอง
การกินอาหารเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงควรปฏิบัติตามโภชนบัญญัติและธงโภชนาการ
โดยการบริโภคอาหารให้ครบ ๕ หมู่ และมีความหลากหลาย กินอาหารให้มีปริมาณพอเหมาะ
ไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยยึดถือทางสายกลาง มีการกินผักและผลไม้ให้มาก เป็นประจำ
หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด และเค็มจัด
และที่สำคัญคือออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลตัวดีคือเอชดีแอล
ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมโคเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ข้อมูลสื่อ
นิตยสารหมอชาวบ้าน
เล่มที่: 314
เดือน/ปี: มิถุนายน
2548
นักเขียน: รศ.ดร.ประไพศรี
ศิริจักรวาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น